Menu

การเลือกซื้อผัก-ผลไม้สด และวิธีลดสารตกค้าง

เหตุใดจึงต้องใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชในผัก – ผลไม้ ?

          เนื่องจากประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อนชื้น ปลูกพืชได้หลากหลายชนิด ตลอดทั้งปี และมีศัตรูพืชมากกว่า 700 ชนิด ข้อมูลจากสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทยระบุว่า ในความเป็นจริงผู้บริโภคพืชผักและผลไม้ส่วนใหญ่ ต้องการผลิตผลที่มีลักษณะสวยงาม ไม่มีร่องรอยการถูกทำลาย และเกษตรกรมีความประสงค์ที่จะจำหน่ายผลิตผลให้ได้ราคาสูง จึงจำเป็นต้องใช้สารเคมี ป้องกันกำจัดศัตรูพืช
เพื่อเป็นหลักประกันว่าผลผลิตจะไม่เสียหาย และมีคุณภาพ ตรงตามความต้องการของตลาด ในขณะเดียวกัน ประชากรเพิ่มขึ้นทุกปี แต่พื้นที่เพาะปลูกพืชลดลงเรื่อย ๆ เกษตรกรจึงมีความจำเป็นต้องหาทางปกป้อง ผลผลิตของตนไม่ให้เสียหายจากศัตรูพืช โดยใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช

สารเคมีตกค้างที่มักพบปนเปื้อนในพืชผักและผลไม้มีผลต่อสุขภาพของเราอย่างไร ?

          สารเคมีที่มักพบตกค้างในผัก-ผลไม้ มักเป็นสารกำจัดศัตรูพืช และสารอื่นๆ เช่น สารฟอกขาว      ฟอร์มาลีน ถ้าร่างกายได้รับสารเคมีตกค้างจากผลผลิตที่บริโภค ในปริมาณมากอาจจะมีผล ดังนี้

สารกำจัดศัตรูพืช มีผลต่อระบบประสาทของเรา ทำให้มีอาการอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ มึนงง หรือหายใจลำบาก และหากมีการสะสมในระยะยาวอาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้

          – สารฟอกขาว พบได้ในผักผลไม้สีขาว หรือสีเหลือง เช่น ถั่วงอก ขิง หน่อไม้ เป็นต้น เมื่อเข้าสะสม  ในร่างกาย อาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือเวียนศีรษะได้

          – ฟอร์มาลีน มักถูกนำมาใช้ในการรักษาสภาพความสดและกรอบขึ้น โดยเฉพาะผักที่ใช้ตกแต่งภายในจานอาหาร หรือผักที่มักทานเป็นสลัด เมื่อร่างกายได้รับฟอร์มาลีน จะทำให้เกิดอาการผิดปกติกับร่างกาย เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้ ปวดศีรษะ คอแห้ง ปากแห้ง เป็นต้น หากมีการสะสมของฟอร์มาลีนมากขึ้นเรื่อย ๆ ฟอร์มาลีน ที่มีฤทธิ์เป็นกรดจะกัดกระเพาะอาหาร และเป็นแผลในกระเพาะได้

          ทั้งนี้ ความรุนแรงจากบริโภคผลผลิตที่มีสารตกค้าง ยังขึ้นอยู่กับสุขภาพของผู้บริโภคแต่ละรายด้วย

ผัก-ผลไม้ ยังจำเป็นต่อร่างกาย ในเมื่อเราขาดไม่ได้ ทำอย่างไรดี ?

          ผัก-ผลไม้ เป็นแหล่งของวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิดที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ช่วยทำให้ร่างกายแข็งแรงมีส่วนช่วยในการเจริญเติบโต เป็นแหล่งใยอาหารทำให้ระบบการย่อยและการขับถ่ายทำงานได้อย่างปกติรวมทั้งมีสรรพคุณในการป้องกันและรักษาโรคบางชนิด การเลือกซื้อผักและผลไม้จากแหล่งที่เชื่อถือได้ และปฏิบัติตามคำแนะนำของ อย. ในการลดสารเคมีที่ตกค้างในผลผลิตอย่างถูกต้องก็จะทำให้เราบริโภคผัก-ผลไม้ได้อย่างมั่นใจ และได้ประโยชน์

 เลือกซื้อผัก-ผลไม้อย่างไร ? ให้ปลอดภัยจากสารเคมีตกค้าง

  • เลือกซื้อผัก-ผลไม้ตามฤดูกาล เนื่องจากผัก-ผลไม้ที่ปลูกตามฤดูกาล จะมีการเจริญเติบโตได้ดีกว่าผัก-ผลไม้ ที่ปลูกนอกฤดูกาล จึงทำให้มีการใช้สารเคมีและปุ๋ยเคมีลดลงด้วย
  • เลือกซื้อผักพื้นบ้าน ตามถิ่นที่อยู่อาศัยนั้น ๆ หรือกินผักที่ปลูกเองได้ง่าย ๆ ซึ่งมักมีโรคและแมลงศัตรูพืชรบกวนน้อย จึงมีการใช้สารเคมีน้อยตามไปด้วย
  • เลือกซื้อผัก-ผลไม้ที่มีสีสันตามธรรมชาติ ไม่มีคราบดินหรือคราบของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ไม่มีจุด  ราดำหรือเชื้อราต่าง ๆ รวมถึงกลิ่นที่ฉุนผิดปกติ เลือกซื้อผัก-ผลไม้ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากหน่วยงาน   ที่เชื่อถือได้ เช่น ตลาดเกษตรกร ตลาดผัก-ผลไม้เกษตรอินทรีย์ ตลาดสดที่มีการตรวจ และรับรองจากเจ้าหน้าที่ทางราชการเป็นประจำ เป็นต้น
  • ชื้อจากแหล่งผลิตที่ไว้ใจได้ เพราะรูปลักษณ์ภายนอกก็ไม่ได้รับประกันว่าจะปลอดภัยเสมอไป  เช่น ผักสดที่มีรูเจาะ อาจเกิดจากการใช้สารเคมีไม่ถูกต้อง หรือผัก-ผลไม้สวย ๆ ที่ไม่มีร่องรอยการทำลาย    ของโรคและแมลงก็อาจมาจากสวนที่ดูแลอย่างดีโดยไม่ใช้สารเคมีได้ ถ้าเป็นผัก-ผลไม้ในห้างสรรพสินค้า ควรเลือกซื้อสินค้าที่มีการแสดงฉลากที่ถูกต้อง เพื่อให้สามารถตรวจสอบ ย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของผัก-ผลไม้ได้
  • ระมัดระวังการซื้อผัก-ผลไม้ซึ่งไม่ระบุแหล่งที่มา และไม่สามารถตรวจสอบจากผู้ขายได้ว่ามาจากแหล่งผลิตใด

          ทั้งนี้ ไม่ควรบริโภคผัก-ผลไม้ชนิดใดชนิดหนึ่งเป็นประจำ ควรบริโภคผัก-ผลไม้ให้หลากหลายชนิดสับเปลี่ยนกัน เพื่อให้ได้คุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน ร่างกายสามารถขับสารเคมีได้อย่างมีประสิทธิภาพ และหลีกเลี่ยงการสะสมของสารเคมีในร่างกายอย่างต่อเนื่อง

วิธีลดสารตกค้างในผัก-ผลไม้

          – ล้างผักรอบแรกให้สะอาด เด็ดผักออกเป็นใบ ๆ แล้วนำมาแช่น้ำ แช่นานประมาณ 15 นาที จะลดปริมาณสารตกค้าง 7-33 %

          – เกลือป่น 1 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 4 ลิตร ละลายเกลือในน้ำแล้วนำผัก-ผลไม้แช่นาน 10 นาที ก่อนล้างด้วยน้ำสะอาด ลดปริมาณสารตกค้าง 27-38 %

          – แช่น้ำซาวข้าวนาน 10 นาที ก่อนล้างด้วยน้ำสะอาด ลดปริมาณสารตกค้าง 29-38 %

          – แช่น้ำปูนใส (ที่ได้จากการเตรียมน้ำปูนใสอิ่มตัว 1 ส่วน ผสมน้ำ 1 ส่วนแล้ว) นาน 10 นาที ก่อนล้างด้วยน้ำสะอาด ลดปริมาณสารตกค้าง 34-52 %

          – แช่น้ำด่างทับทิม (ด่างทับทิม 20-30 เกล็ดต่อน้ำ 4 ลิตร) แช่นาน 10 นาที ก่อนล้างด้วยน้ำสะอาด

ลดปริมาณสารตกค้าง 35-43 %

          – ต้มหรือลวกผัก ด้วยน้ำร้อน ลดปริมาณ สารตกค้าง 48-50 %

          – เด็ดผักเป็นใบล้างน้ำไหลผ่าน ลดปริมาณสารตกค้าง 25-63 %

          – น้ำยาล้างผัก (เลือกใช้น้ำยาล้างผัก ที่มีความเข้มข้นประมาณ 0.3%) ผสมน้ำ 4 ลิตร แช่นาน  15 นาที ลดปริมาณสารตกค้าง 25-70 %

          – ลอกหรือปอกเปลือกชั้นนอก ของผักออกทิ้ง 2-3 ใบเด็ดผักเป็นใบเด็ดผักเป็นใบแช่น้ำสะอาดนาน  5 – 10 นาที ลดปริมาณสารตกค้าง 27-72 %

          – น้ำส้มสายชู 1 ส่วนต่อน้ำ 10 ส่วน แช่นาน 10 นาที ก่อนล้างด้วยน้ำสะอาด ลดปริมาณสารตกค้าง 60-84 %

          – โชเดียมไบคาร์บอเนต (เบคกิ้งโซดา) 1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำ 20 ลิตร แช่นาน 15 นาที ก่อนล้างด้วยน้ำสะอาด ลดปริมาณสารตกค้าง 90-95 %

          – ผงฟู (เบคกิ้งโซดาผสมแป้ง) 1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำ 20 ลิตร แช่นาน 15 นาที ก่อนล้างด้วยน้ำสะอาด ลดปริมาณสารตกค้าง 90-95 %

                    หากมีข้อสงสัยสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรในพื้นที่ใกล้บ้านท่าน หรือติดต่อขอคำแนะนำได้ที่กลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานเกษตรพื้นที่กรุงเทพมหานคร โทร ๐ ๒๔๓๕ ๕๐๔๖ ในวันและเวลาราชการ

Skip to content